แผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ (Plantar Fasciitis)
เหยียบเท้าลงน้ำหนักบนพื้นแต่ละที่ทำไมเจ็บแปล๊บๆเหมือนกับโดนเข็มทิ่ม โดยเฉพาะก้าวแรกของ การตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกเจ็บที่สุดหรือก้าวแรกหลังจากนั่งนานๆ หากเคย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “แผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือที่เรารู้จักในชื่อโรครองช้ำ”
แผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) เกาะจากขอบส่วนในของกระดูกส้นเท้าทอดไปด้านหน้าเพื่อ เชื่อมกับเอ็นที่ยึดติดกับนิ้วเท้า แผ่นพังผืดใต้ผ่าเท้านี้จะตึงในท่ากระดกข้อโคนนิ้วเท้าขึ้น (Toe extension) เพื่อผลักเท้าออกจากพื้นหรือกระดกข้อเท้าขึ้น (ankle dorsiflexion) และหากมีการกระชากก็จะเกิดแรงเครียดขึ้นได้ ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนหรืออุ้งเท้าสูง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ทำกิจกรรมที่ลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้านานๆ หรือใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสม จะมีโอกาสเกิดการอักเสบของแผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้าได้ง่าย
อาการสำคัญคือ อาการปวดในตอนเช้าเมื่อรับน้ำหนักตัวครั้งแรกๆ หรือก้าวแรกหลังจากนั่งนานๆ และถ้าไม่ได้พัก การอักเสบจะยิ่งลุกลามทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ตำแหน่งที่ปวดส่วนมากจะค่อนมาทางด้านในของส้นเท้า จะมีอาการปวดและกดเจ็บตามแนวความยาวของแผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) โดยเจ็บคล้ายๆกับมีของแหลมทิ่ม ซึ่งอาการปวดจะมากขึ้นเมื่อยืนนานๆ เดินต่อเนื่อง วิ่ง หรือกระโดด แต่เมื่อได้พักอาการจะลุเลาลง
การดูแลรักษาด้วยตนเอง ยืดกล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius muscle), ใส่รองเท้าที่เหมาะกับความโค้งของฝ่าเท้าของตนเอง, ลดน้ำหนัก, บริหารกล้ามเนื้อใต้ฝ่าเท้าโดยการฝึกขยุ้มเท้า, เหยีบลูกเทนนิสหรือลูกกอฟล์ให้กลิ่งไปมาบนฝ่าเท้าจะช่วยลดอาการตึงของฝ่าเท้า แต่ในกรณีที่มีอาการปวดมาเป็นระยะเวลานาน แนะนำเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อให้กระบวนการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
การรักษาทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาโดยอาจจะใช้เครื่องมือ Ultrasound, LASER เพื่อลดอาการอักเสบและทำให้เนื้อเยื่อที่หนาตัวขึ้นอ่อนนุ่มลง การรักษาด้วยมือนั้นจะใช้เทคนิค deep friction เพื่อสลายจุดกดเจ็บ, stretching execise เพื่อยืดเอ็นใต้ฝ่าเท้าให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น, หรือtapping ที่ฝ่าเท้า เป็นต้น และจะแนะนำท่าบริหารและการดูแลฝ่าเท้าร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา